แพ้ฟิลเลอร์
อาการแพ้ฟิลเลอร์ เป็นหนึ่งในความกังวลที่พบบ่อยสำหรับผู้ที่สนใจการฉีดฟิลเลอร์ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแพ้ Filler จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้เราสามารถเตรียมตัวและรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง
ในบทความ Gangdara วันนี้ เราจะพาไปทำความรู้จักกับอาการแพ้ฟิลเลอร์ให้มากขึ้นว่า มีลักษณะอย่างไร ? มักเกิดขึ้นกับบริเวณไหน ? อันตรายไหม ? เมื่อมีอาการควรรักษาอย่างไร ? พร้อมบอกวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพ้ฟิลเลอร์
คลิกอ่านหัวข้อ แพ้ฟิลเลอร์
อาการแพ้ฟิลเลอร์ มีลักษณะอย่างไร ?
อาการแพ้ฟิลเลอร์ คือการตอบสนองของร่างกายต่อสารเติมเต็มที่ฉีดเข้าสู่ผิวหนัง ซึ่งอาจเกิดจากฟิลเลอร์ชนิดต่าง ๆ เช่น คอลลาเจนจากสัตว์ ซิลิโคนเหลว หรือแม้แต่ฟิลเลอร์ Hyaluronic Acid (HA) ที่นิยมในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ฟิลเลอร์ Hyaluronic Acid ที่ผ่าน อย. ในประเทศไทย ถือว่ามีความปลอดภัยสูงและมีโอกาสเกิดอาการแพ้น้อยมาก
ฟิลเลอร์ Hyaluronic Acid เป็นฟิลเลอร์ที่ได้รับการรับรองจาก อย. และผลิตจากสารที่เลียนแบบ Hyaluronic Acid ที่มีอยู่ในร่างกายของเราเอง ทำให้เข้ากันได้ดีกับร่างกาย และสามารถสลายได้ตามธรรมชาติ ฟิลเลอร์ประเภทนี้ได้รับความนิยมมาก เนื่องจากมีความปลอดภัยสูงและมีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับฟิลเลอร์ประเภทอื่น
ลักษณะของอาการแพ้ฟิลเลอร์
อาการแพ้ฟิลเลอร์สามารถเกิดขึ้นได้ทันทีหลังฉีด หรืออาจแสดงอาการหลังจากผ่านไปหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน ขึ้นอยู่กับชนิดของฟิลเลอร์และการตอบสนองของร่างกาย โดยอาการที่อาจพบได้ ได้แก่
- คันบริเวณที่ฉีด มีอาการปวด บวม แดง หรือร้อนบริเวณที่ฉีด
- ตาบวม
- บริเวณที่ฉีดมีลักษณะเป็นก้อน นูน แดง หรืออักเสบ
- มีตุ่มหรือหนองบริเวณที่ฉีด
- อาการผื่นหรือลมพิษรุนแรง
(พบได้น้อยมากหรือแทบไม่พบเลย ในกรณีฉีดฟิลเลอร์ Hyaluronic Acid)

ฟิลเลอร์อักเสบ คืออะไร ?
นอกจาก อาการแพ้ฟิลเลอร์ ที่หลายคนอาจเคยได้ยินมาแล้ว อีกหนึ่งปัญหาที่ควรรู้ก่อนฉีดฟิลเลอร์ก็คือ ฟิลเลอร์อักเสบ ซึ่งเป็นผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้หลังฉีดฟิลเลอร์
ซึ่ง “ ฟิลเลอร์อักเสบ ” คือ ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการติดเชื้อหลังการฉีดฟิลเลอร์ครับ มักพบได้ในช่วง 3-7 วันหลังการฉีด โดยอาจสังเกตเห็นความผิดปกติ เช่น มีก้อนนูนแดง รู้สึกปวด บวม ร้อนบริเวณที่ฉีด หรือบางครั้งอาจมีตุ่มหรือหนองเกิดขึ้น
สาเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากการติดเชื้อในระหว่างทำหัตถการ อาจเป็นเพราะการฉีดฟิลเลอร์ในคลินิกที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือการใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่สะอาดเพียงพอครับ
แพ้ฟิลเลอร์มักพบบริเวณการฉีดจุดใด ?

อาการแพ้ฟิลเลอร์มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกตำแหน่งในการฉีดฟิลเลอร์ โดยปัจจัยที่มีผลต่อการแพ้ ได้แก่ ประเภทของฟิลเลอร์ที่ใช้ เทคนิคการฉีดของแพทย์ ความสะอาดของอุปกรณ์และสถานที่ รวมถึงการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกายของคนไข้แต่ละคน โดยจุดฉีดฟิลเลอร์ที่อาจพบอาการแพ้ได้ มีดังนี้
- ฟิลเลอร์ใต้ตา : บริเวณใต้ตามีผิวที่บาง ทำให้เป็นจุดที่พบอาการแพ้หรือผลข้างเคียงได้ง่าย เช่น การบวมแดง ตาบวม หรือฟิลเลอร์เป็นก้อน หากฉีดด้วยเทคนิคที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดรอยคล้ำหรือผิวไม่เรียบเนียนหลังฉีดได้
- ฟิลเลอร์ปาก : ริมฝีปากเป็นอีกจุดที่นิยมฉีดเพื่อเพิ่มความอิ่มเอิบ แต่เนื่องจากบริเวณนี้มีเส้นเลือดฝอยจำนวนมาก หากเกิดการแพ้อาจมีอาการบวมแดงอย่างชัดเจน หรือรู้สึกตึงบริเวณปาก การใช้ฟิลเลอร์แท้และเทคนิคที่ถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงในการฉีดฟิลเลอร์บริเวณนี้
- ฟิลเลอร์ขมับ : บริเวณขมับมักฉีดเพื่อแก้ปัญหาขมับตอบหรือเติมเต็มให้ใบหน้าดูอิ่มขึ้น แต่หากเกิดการแพ้อาจมีอาการบวม แดง หรือรู้สึกตึงบริเวณขมับ นอกจากนี้ การฉีดที่ไม่ถูกต้องอาจทำให้ฟิลเลอร์เคลื่อนที่หรือใบหน้าไม่สมดุลได้
- ฟิลเลอร์ร่องแก้ม : การฉีดฟิลเลอร์ร่องแก้มช่วยลดร่องลึกและทำให้ใบหน้าดูอ่อนเยาว์ขึ้น แต่หากเกิดการแพ้อาจพบรอยแดงหรืออักเสบในบริเวณที่ฉีด โดยเฉพาะถ้าใช้ฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน
- ฟิลเลอร์หน้าผาก : บริเวณหน้าผากมักฉีดเพื่อแก้ปัญหาร่องลึกหรือเพิ่มความโค้งมนของรูปหน้า หากเกิดการแพ้ อาจมีอาการบวมแดงหรือฟิลเลอร์เป็นก้อนใต้ผิว การฉีดฟิลเลอร์หน้าผากจึงควรใช้เทคนิคเฉพาะเพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
- ฟิลเลอร์คาง : การฉีดฟิลเลอร์คางช่วยปรับรูปหน้าให้ดูเรียวขึ้น แต่บริเวณนี้มีความเสี่ยงต่อการบวมแดงหรือการอักเสบหากใช้เทคนิคที่ไม่ถูกต้อง หรือฉีดด้วยฟิลเลอร์ปลอมที่ไม่ได้มาตรฐาน
- ฟิลเลอร์จมูก : จมูกเป็นจุดที่ซับซ้อนเพราะมีหลอดเลือดจำนวนมาก หากเกิดการแพ้หรือฉีดผิดพลาด อาจมีอาการอักเสบ บวมแดง หรือในกรณีร้ายแรงอาจเสี่ยงต่อการอุดตันของหลอดเลือดได้
- ฟิลเลอร์แก้มตอบ : ฟิลเลอร์แก้มตอบมักฉีดเพื่อปรับให้หน้าดูอิ่ม ดูมีชีวิตชีวาขึ้น หากเกิดการแพ้ อาจพบอาการปวดหรือแดงบริเวณที่ฉีด และในบางกรณีฟิลเลอร์อาจจับตัวเป็นก้อน
- ฟิลเลอร์แก้มส้ม : บริเวณแก้มส้มช่วยเพิ่มความมีมิติให้ใบหน้า แต่หากเกิดการแพ้ อาจมีอาการบวมแดงหรือฟิลเลอร์เป็นก้อนแข็งใต้ผิว การฉีดในบริเวณนี้ต้องอาศัยความชำนาญของแพทย์อย่างมาก
- ฟิลเลอร์ร่องน้ำหมาก : การฉีดบริเวณร่องน้ำหมากช่วยลดร่องลึก ทำให้ใบหน้าดูสดใสและอ่อนเยาว์ขึ้น แต่บริเวณนี้มักเสี่ยงต่อการเกิดอาการบวมแดงหรืออักเสบ หากเกิดการแพ้หรือใช้ฟิลเลอร์ปลอม ผลลัพธ์อาจไม่เรียบเนียนและมีปัญหาตามมา
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังฉีดฟิลเลอร์

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังฉีดฟิลเลอร์สามารถแบ่งได้เป็นสองประเภทหลัก ได้แก่ ผลข้างเคียงที่ไม่เป็นอันตรายและผลข้างเคียงที่ต้องเฝ้าระวัง
ผลข้างเคียงหลังฉีดฟิลเลอร์ที่พบได้ทั่วไปและไม่เป็นอันตราย
มักเกิดขึ้นในช่วงแรกหลังการฉีด เช่น อาการบวมจากตัวฟิลเลอร์ที่ยังไม่เข้าที่หรืออาการบวมจากการฉีด ซึ่งจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 5-7 วัน และจะเข้าที่เต็มที่ภายใน 2 สัปดาห์ นอกจากนี้อาจพบอาการเล็กน้อยอื่น ๆ เช่น รอยแดง รอยช้ำ หรือรอยเข็มที่ผิวหนัง ซึ่งถือเป็นอาการปกติที่ไม่ต้องกังวล
ผลข้างเคียงหลังฉีดฟิลเลอร์ ที่ควรระวังและต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ทันที ได้แก่
- การเกิดผื่นคัน ตุ่ม อาการบวมแดง หรือรู้สึกร้อนบริเวณที่ฉีด
- อาการปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ บริเวณที่ฉีดฟิลเลอร์
- อาการกดเจ็บที่ผิวหนัง
- การเปลี่ยนสีผิวที่ผิดปกติเป็นสีแดงหรือคล้ำ
- การเกิดฟิลเลอร์เป็นก้อนแข็ง ไหล หรือผิดรูป
หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาโดยเร็วที่สุดครับ
คลิกอ่านเพิ่มเติม : หลังฉีดฟิลเลอร์ต้องรู้! วิธีดูแลตัวเองที่ควรทำ ห้ามอะไรบ้าง ? แต่งหน้าได้ไหม ?
แพ้ฟิลเลอร์ อันตรายไหม ?

อาการแพ้ฟิลเลอร์สามารถ เกิดอันตรายได้ หากใช้ฟิลเลอร์ปลอมหรือสารเติมเต็มที่ไม่ใช่ฟิลเลอร์แท้ ไม่ได้มาตรฐาน อาจทำให้เกิดการอักเสบ ติดเชื้อ หรือปัญหาผิวที่รุนแรง เช่น ผิวผิดรูป หรือเนื้อบริเวณที่ฉีดเสียหาย ซึ่งการแก้ไขในกรณีนี้ค่อนข้างยากและอาจต้องใช้วิธีผ่าตัดหรือขูดออก ซึ่งอาจทำให้ผิวไม่กลับมาสวยเหมือนเดิมได้
แต่มีข่าวดี สำหรับคนที่เลือกใช้ฟิลเลอร์แท้ประเภท HA (Hyaluronic Acid) ครับ เพราะถ้าเกิดปัญหาหรือมีอาการแพ้ฟิลเลอร์เกิดขึ้น เราสามารถแก้ไขได้ด้วยการฉีดเอนไซม์ไฮยาลูโรนิเดส (Hyaluronidase : HYAL) ซึ่งจะช่วยสลายฟิลเลอร์ออกได้อย่างปลอดภัย และผิวของเราจะสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมได้โดยไม่ทิ้งร่องรอยใด ๆ ไว้ครับ
ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแพ้ฟิลเลอร์เกิดขึ้น ควรเลือกฉีดฟิลเลอร์กับคลินิกที่ได้มาตรฐาน ทำโดยแพทย์มากประสบการณ์ และใช้ฟิลเลอร์แท้ที่ได้รับการรับรองจาก อย. รวมถึงหากพบอาการผิดปกติใด ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีครับ
วิธีรักษาเมื่อมีอาการแพ้ Filler ต้องทำอย่างไร ?
หากพบว่ามีอาการแพ้ฟิลเลอร์ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีเพื่อรับการวินิจฉัย และวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งการแก้ไขอาการแพ้ฟิลเลอร์ จะขึ้นอยู่กับ ประเภทของฟิลเลอร์ที่ฉีด ร่วมกับความรุนแรงของอาการ โดยแนวทางการรักษาเมื่อมีอาการแพ้ Filler มีดังนี้
1. การฉีดสลายฟิลเลอร์ (กรณีฉีดฟิลเลอร์แท้ประเภท Hyaluronic Acid)
หากฟิลเลอร์ที่ฉีดเป็น Hyaluronic Acid (HA) และพบอาการแพ้ เช่น บวม แดง หรือคัน แพทย์สามารถใช้เอนไซม์ Hyaluronidase เพื่อฉีดสลายฟิลเลอร์ออกได้ทันทีอย่างปลอดภัย สามารถช่วยแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว

2. รักษาตามอาการ (กรณีฟิลเลอร์ชนิดอื่น)
ในกรณีที่อาการแพ้เกิดจากฟิลเลอร์ชนิดอื่น แพทย์จะทำการรักษาอาการเบื้องต้น เช่น ให้ยาลดอักเสบหรือยาต้านการติดเชื้อ พร้อมวางแผนเพื่อนำสารที่ฉีดออกจากร่างกายโดยเร็วที่สุด
3. การขูดหรือผ่าตัด (กรณีฉีดฟิลเลอร์ปลอม)

หากฉีดฟิลเลอร์ปลอม ประเภท Biosynthetic polymers เช่น Calcium hydroxylapatite, polymethylmethacrylate, ซิลิโคนเหลว อาจจำเป็นต้องใช้การขูดออกหรือผ่าตัด เพื่อเอาสารออกจากร่างกายให้หมด เพื่อลดความเสี่ยงของการอักเสบหรือติดเชื้อในระยะยาว
วิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการแพ้ฟิลเลอร์
อย่างที่บอกไปแล้วครับว่า อาการแพ้ฟิลเลอร์อาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การใช้ฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน การฉีดโดยแพทย์ที่ไม่มีประสบการณ์ หรือการที่ร่างกายตอบสนองต่อสารเติมเต็มในฟิลเลอร์เอง อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้สามารถหลีกเลี่ยงได้ หากปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ครับ

- เลือกคลินิกที่ได้มาตรฐาน : ควรเลือกคลินิกที่ผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข ตั้งอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ห้องทำหัตถการสะอาด กว้างขวาง มีอุปกรณ์ครบครัน เพื่อลดความเสี่ยงและเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัย
- ตรวจสอบแพทย์ผู้ทำการฉีด : แพทย์ที่ทำการฉีดต้องมีใบประกอบวิชาชีพ สามารถตรวจสอบ ชื่อ-นามสกุล หรือเลข ว. ได้จากเว็บไซต์แพทยสภา เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นแพทย์จริงและมีประสบการณ์ในการฉีดฟิลเลอร์
- ใช้ฟิลเลอร์แท้ : ก่อนฉีด แพทย์จะต้องแกะกล่องฟิลเลอร์ใหม่ให้ดูต่อหน้าคนไข้ และสามารถขอกล่องหรือหลอดฟิลเลอร์กลับบ้านได้ เพื่อเป็นหลักฐานว่าสารที่ใช้เป็นของแท้และปลอดภัย
- แจ้งข้อมูลสุขภาพก่อนฉีด : คนไข้ควรแจ้งข้อมูลสำคัญ เช่น โรคประจำตัว ยาที่รับประทานเป็นประจำ หรือการแพ้ยาชา เนื่องจากฟิลเลอร์บางรุ่นมีส่วนผสมของยาชา หากแพ้ อาจเกิดผลข้างเคียงได้
- เตรียมตัวก่อนฉีดฟิลเลอร์ : ควรงดดื่มแอลกอฮอล์ พักผ่อนให้เพียงพอ และหากบริเวณที่จะฉีดฟิลเลอร์มีอาการอักเสบหรือเป็นโรคผิวหนัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลื่อนการฉีดฟิลเลอร์ออกไปก่อน เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการติดเชื้อครับ
สรุปเรื่องอาการแพ้ฟิลเลอร์ อันตรายไหม
อาการแพ้ฟิลเลอร์เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเป็นฟิลเลอร์แท้ที่มีสาร Hyaluronic Acid (HA) โอกาสแพ้จะน้อยมาก ส่วนใหญ่แล้วปัญหามักเกิดจากการใช้ฟิลเลอร์ปลอมหรือฉีดในคลินิกที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อ อักเสบ หรือเนื้อผิดรูป และแก้ไขได้ยาก
วิธีป้องกันที่ง่ายที่สุดคือ เลือกฉีดกับคลินิกที่มีมาตรฐานและแพทย์ที่มีประสบการณ์สูง ตรวจสอบฟิลเลอร์ให้แน่ใจก่อนฉีดว่าเป็นของแท้ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้ปลอดภัยและได้ผลลัพธ์ที่ดีครับ